เคาน์เตอร์ครัว เป็นส่วนที่ขาดไม่ได้สำหรับห้องครัว จัดวางกันได้หลายรูปแบบหลายแบบตามที่ผู้ออกแบบกำหนดเช่นวางชิดผนัง สำหรับครัวที่มีพื้นที่จำกัด หรือวางแบบลอยตัวไว้กลางห้องสำหรับครัวที่มีพื้นที่เพียงพอในการใช้งาน เคาน์เตอร์จะเป็นส่วนสำคัญที่สุดของห้องครัวเพราะต้องใช้ติดตั้งเตา อ่างล้างชาม และส่วนเตรียมอาหารก่อนปรุง การจัดวางต้องออกแบบให้เหมาะสมเช่นไม่ควรจัดส่วนที่เป็นเตาไฟไว้บริเวณหน้าต่าง ถ้าหน้าต่างที่มีมุ้งลวดจะเป็นเรื่องใหญ่เลย เพราะเมื่อปรุงอาหารจะมีเขม่าหรือละอองน้ำมันกระเด็น คราบเหนียวของน้ำมันจะไปติดตามมุ้งลวดจะทำความสะอาดยากมากควรหลีกเลี่ยง
“ครัว” เป็นส่วนประกอบที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของบ้านที่จะขาดเสียมิได้ เพราะครัวเป็นที่สำหรับประกอบอาหารเพื่อเลี้ยงดูสมาชิกของบ้าน สังคมไทยในอดีตมักให้ความสำคัญของครัวค่อนข้างมาก แม่บ้านในครอบครัวสมัยก่อนบางคนใช้เวลาส่วนใหญ่ของแต่ละวันอยู่ในครัว โดยเฉพาะอาหารไทยส่วนใหญ่จะมีเครื่องปรุงและเครื่องเทศที่มีกลิ่นฉุน ครัวในสมัยก่อนจึงมักอยู่นอกตัวบ้าน หรือเป็นสิ่งปลูกสร้างแยกออกจากตัวบ้าน เนื่องจากครัวเป็นส่วนของบ้านที่ถูกใช้ประโยชน์มาก การดูแลรักษาจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อที่จะให้ครัวอยู่ในสภาพที่สะอาดพร้อมใช้งานอยู่เสมอ หลังการปรุงอาหารทุกครั้งควรต้องทำความสะอาดเช็ดถู เพื่อกำจัดเศษอาหารและคราบน้ำมัน รวมทั้งการดูแลจัดเก็บอุปกรณ์เครื่องใช้ให้เป็นระเบียบและหยิบใช้งานสะดวกในสังคมปัจจุบันเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมเมือง ที่ต่างคนต่างต้องเร่งรีบออกจากบ้านไปทำหน้าที่ของตน ครัวสำหรับบางครอบครัวจึงเป็นแค่ห้องประดับเครื่องครัวใหม่ๆ ที่เป็นมันเงาเพราะไม่เคยถูกหยิบใช้งาน หรือครัวอาจเป็นเพียงที่ชงการแฟหรืออุ่นอาหารเพียงเท่านั้นไม่ว่าครัวในบ้านคุณจะมีบทบาทอย่างไร แต่เมื่อครัวเป็นส่วนประกอบของบ้านที่ขาดไม่ได้เสียแล้ว การสร้างบ้านจึงควรคำนึงเรื่องของครัวไว้ด้วยเป็นสำคัญ การออกแบบและกำหนดตำแหน่งห้องครัวห้องครัวต้องคำนึงถึง ทิศทางลม ทิศทางแดด เรื่องความสวยงาม และประโยชน์ใช้สอยด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะครัวไทยหรือครัวที่ปรุงอาหารจริงๆ ไม่ควรมีอากาศอับทึบหรือควรระบายอากาศได้ดี และอยู่ในตำแหน่งที่ได้รับแสงแดดได้ดี การวางตำแหน่งของห้องครัวจะเน้นเรื่องความสะอาดและความสะดวก ถ้าเป็นบ้านหลังเล็กๆอาจจะใช้การต่อเติมหลังคาด้านข้างของบ้านดัดแปลงเป็นครัวก็ได้ การเลือกว่าจะจัดวางตำแหน่งของครัวไว้ที่ไหนอย่างไร ก็จะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่าง เช่น ขนาดของบ้าน ลักษณะของพื้นที่ใช้สอยรวม ความต้องการและความสะดวกของเจ้าของบ้านเนื่องจากครัวเป็นพื้นที่ในบ้านที่มีความสำคัญ เพราะเป็นพื้นที่ที่ใช้งานหนักและอาจต้องสัมผัสกับวัตถุดิบที่จะนำมาทำอาหาร เครื่องปรุง ที่มีทั้งฤทธิ์เป็นกรด ด่าง และเกลือ น้ำมันที่ใช้สำหรับทอดหรือผัด แป้งผสมอาหาร น้ำ ความชื้น ความร้อน และจะต้องเจอกับน้ำยาทำความสะอาดอีกสารพัด อีกทั้งลักษณะการประกอบอาหารแต่ละชนิดก็ต่างกันเช่นบางอย่างต้องใช้ความร้อนในการปรุงใช้ไฟแรง มีความร้อนสูง บางอย่างต้องย่างปิ้ง เกิดเขม่า เกิดควัน บางอย่างต้องใช้การบด สับ ทุบ โขลก ตำ ดังนั้นวัสดุที่เลือกมาใช้ในห้องครัวจึงต้องเป็นวัสดุที่มีความแข็งแรง ทำความสะอาดง่าย ทนทานต่อสารเคมีผนังห้องครัวอาจแบ่งออกเป็นส่วนๆได้ตามลักษณะการใช้งาน ส่วนที่มิได้สัมผัสกับความร้อน ความชื้น คราบอาหารก็เป็นผนังก่ออิฐฉาบปูนธรรมดา ทาสีพลาสติคชนิดที่เป็นมันเงา ทำความสะอาดได้ง่ายก็จะดี ส่วนที่ต้องสัมผัสกับความร้อน ความชื้น น้ำ คราบเศษอาหาร ละอองน้ำมัน ส่วนนี้ควรเลือกใช้วัสดุที่เป็นมันเงา มีความยืดหดตัวจากความร้อนความชื้นน้อย เช่นบริเวณหน้าเตา หน้าอ่างล้างชาม วัสดุประเภทกระเบื้องเซรามิคขนาดต่างๆ ที่มีผิวเรียบ เงา มัน แผ่นสแตนเลสก็เป็นที่นิยมและเลือกใช้กันมากทั้งแบบเงา หรือแบบผิวด้านที่เรียกกันว่าแฮร์ไลน์(Hairline) หรือที่เรียกกันภาษาชาวบ้านว่าแบบขนแมว กระจกก็เป็นวัสดุอีกประเภทหนึ่งที่มัณฑนากรเลือกนำมาใช้กับครัวยุคใหม่ อาจจะใช้กับผนังหลังเตา ผนังหลังอ่างล้างชามซึ่งอาจมีการตกแต่งโดยการพ่นทราย ทำลาย กัดสีด้านหลัง และการเลือกใช้ชนิดของกระจกก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงด้วยก็เช่นเดียวกัน ควรเลือกใช้วัสดุประเภทที่ทนต่อความชื้น แข็งแรง รับแรงกระแทกได้ดีเพราะมีโอกาสที่อุปกรณ์ทำครัวจะตก หล่นกระแทก อีกทั้งเมื่อสกปรกจากคราบอาหารต้องชะล้างทำความสะอาดง่าย ไม่สะสมความชื้น เชื้อรา และเชื้อโรค วัสดุที่เลือกใช้มักจะเป็นกระเบื้องเคลือบเซรามิคเสียเป็นส่วนใหญ่ และควรเลือกใช้แบบไม่ลื่นเมื่อเปียกน้ำ หรือถ้าต้องการหนีความจำเจอาจใช้เป็นผิวปูนขัดมันที่เรียกว่าผิวปูนดิบก็ได้ พร้อมทั้งเคลือบน้ำยาประเภทซิลิโคนเหลว อีป๊อกซี่เพื่อให้ทนต่อการดูดซึมของน้ำ และคราบสิ่งสกปรกสำหรับเฟอร์นิเจอร์หลักๆในครัวได้แก่เคาน์เตอร์ครัว ตู้ลอย ตู้แขวน หรือเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ เราสามารถเลือกใช้วัสดุหลายอย่างครัวที่ใช้งานหนัก ต้องเตรียมอาหารประเภท สับ โขลก ตำซึ่งส่วนใหญ่จะเป้นครัวหนัก หรือบางครั้งก็เรียกว่าครัวไทย มักจะใช้เป็นคอนกรีต หรือเรียกกันง่ายๆว่าครัวปูน ขาเคาน์เตอร์ก็มักจะก่ออิฐขึ้นมารับแผ่นเคาน์เตอร์ ที่มักหล่อเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก หรือมีผู้ผลิตบางรายออกแบบแผ่นปูนสำเร็จรูปโดยเฉพาะเพื่อใช้ทำเป็นหน้าเคาน์เตอร์ แข็งแรงน้ำหนักเบา และสามารถประกอบและติดตั้งได้รวดเร็วผิวหน้าของเคาน์เตอร์หรือที่เรียกกันว่าท๊อป(Top) มักจะเป็นวัสดุที่แข็งแรงเช่นกันอาจใช้เป็นกระเบื้องเคลือบ หรือกระเบื้องตระกูลแกรนิโต้ขนาด0.60x0.60 ซึ่งมีขนาดเท่ากับความกว้างเคาน์เตอร์พอดีปู หรือเลือกเป็นแกรนิตชนิดสั่งตัดเต็มแผ่นตามความยาวของเคาน์เตอร์ก็ได้ ซึ่งข้อดีคือมีความแข็งแรงกว่ากระเบื้อง รอยต่อน้อย แต่จะมีข้อด้อยเรื่องอัตราการซึมน้ำที่มากกว่า ราคาจะสูงกว่าตามสีและชนิดของหินที่เลือกใช้ แต่ถ้ามีงบประมาณเพียงพอก็อาจเลือกใช้วัสดุประเภทหินเทียมก็ได้ ซึ่งวัสดุประเภทนี้เป็นวัสดุที่นำหินธรรมชาติมาบดแล้วผสมเรซิ่นแล้วอัดขึ้นรูปเป็นแผ่น ซึ่งอัตราการซึมน้ำของหินประเทนี้แทบจะเป็นศูนย์เคาน์เตอร์ที่ใช้งานน้อยหรือใช้งานเบากว่าอาจจะใช้ในห้องเตรียมอาหารหรือที่เรียกว่าครัวเบาหรือครัวฝรั่ง ซึ่งก็จะมีเตา และอ่างล้างชามด้วยเหมือนกัน การใช้งานครัวส่วนนี้จะน้อย และเบากว่าแบบแรก โดยทั่วไปโครงสร้างนิยมทำด้วยไม้ ยุคก่อนอาจเป็นไม้อัดประกอบกับโครงไม้ ต่อมาพัฒนาเป็นไม้ MDF เนื่องจากไม่ต้องประกอบโครง และมีราคาถูกกว่า ส่วนวัสดุกรุผิวก็มีหลายประเภทเช่นแผ่นโฟไมก้า เมลามีน หินแกรนิต หรือหินเทียมก็สามรถปูได้เช่นเดียวกับครัวปูน แต่เคาน์เตอร์ประเภทนี้จะไม่ทนน้ำและความชื้น ฉนั้นจะต้องเน้นในเรื่องระบบประปา และท่อน้ำทิ้งไม่ให้รั่วซึม หรือรอยต่อของวัสดุเคลือบปู ผิวหน้าจะต้องไม่ให้น้ำซึมผ่านได้ยังมีเคาน์เตอรืครัวอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมซึ่งแต่ก่อนมักจะใช้เฉพาะร้านอาหาร ภัตราคาร หรือโรงแรม คือสแตนเลสทีปัจจุบันมีการนำมาใช้เป้นครัวในบ้านมากขึ้น ปัจจุบันมีหลายผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาการออกแบบ ขึ้นรูปสแตนเลสเป็นเคาน์เตอร์ครัวได้ตามขนาดที่ต้องการและสามารถสั่งผลิตได้ในหลายๆรูปแบบ โครงภายในอาจใช้เป็นไม้ MDFหรือเหล็กก็ได้ ลวดลายหรือผิวของสแตนเลสมีให้เลือกมากมาย สแตนเลสได้ชื่อในเรื่องของความทนทานอยู่แล้วและเมื่อนำมาประกอบติดตั้งอย่างถูกวิธี ก็จะได้รูปแบบของครัวที่ทันสมัย แข็งแรงและคงทนต่อการใช้งานตู้แขวน ตู้ลอย ตู้ลิ้นชักใต้เคาน์เตอร์ เฟอร์นิเจอร์เหล่านี้เป็นส่วนประกอบที่จำเป็นเพื่อให้ครัวมีองค์ประกอบครบถ้วนสะดวกสบายต่อการใช้งาน สามารถเลือกใช้วัสดุได้มากมายมีทั้งแบบทำขายสำเร็จรูปหาซื้อได้ตามศูนย์จำหน่ายของตกแต่งบ้าน หรือสั่งทำให้พอเหมาะกับพื้นที่ วัสดุหลักๆส่วนใหญ่มักจะเป็นไม้ ถ้างบประมาณสูงหน่อยก็เป็นไม้อัดโครงไม้จริง ผิวทำสี ถ้าย่อมเยาลงไปก็เป็นMDF พ่นสี ส่วนหน้าบาน หน้าตู้ก็จะเลือกใช้ได้หลายอย่างตามความเหมาะสม และสมัยนิยม ถ้าย้อนหลังไปสัก15-20ปีก็ยังเป็นไม้สัก ทำสี ทั้งสีพ่น สีย้อม สีธรรมชาติ ต่อมาก็เป็นการกรุแผ่นเมลามีนซึ่งมีให้เลือกมากมายหลายสี หลายแบบ หลายลวดลาย ยิ่งปัจจุบันแทบจะเข้ามาแทนระบบการทำสีแบบเดิมทั้งหมด และกรรมวิธีในการผลิตก็ดีและทันสมัยยิ่งขึ้น สามารถหุ้มขึ้นรูป ดัดโค้งมาจากโรงงานได้เลย ซึ่งก็จะลดปัญหาในเรื่องความชื้นที่จะเข้าไปยังโครงไม้ภายในอุปกรณ์ประกอบอื่นๆทีใช้ภายในตู้ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในการจัดเก็บภาชนะ อุปกรณ์การทำอาหาร หรือใช้สำหรับเก็บอาหารแห้ง เครื่องเทศ เครื่องปรุงต่างๆ เช่นถาดใส่ช้อน ที่เสียบมีด ตะแกรงคว่ำจาน ขอแขวน ชั้นวางของ ช่องใส่ขวด และอื่นๆอีกมากมาย การเลือกใช้ต้องคำนึงถึงอายุการใช้งานด้วย เพราะมีหลายชนิดให้เลือกใช้เช่นเหล็กเคลือบพลาสติค เหล็กหรือโลหะชุบโครเมี่ยม สแตนเลส เหล็กเคลือบพลาสติค จะมีอายุการใช้งานสั้นเมื่อใช้ไปสักระยะพลาสติคที่เคลือบจะกรอบ แตก และเมื่อความชื้นแทรกตัวเข้าไปได้เหล็กใส้ในจะเกิดสนิมและเบ่งพลาสติคหลุดแตกออก เหล็กชุบโครเมียม เป็นวัสดุอีกแบบหนึ่งที่ใช้กันค่อนข้างมากเนื่องจากมีความเงางามคงทน แต่ต้องเลือกแบบที่ชุบหนาเพื่ออายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า ส่วนสแตนเลสจะเป็นอุปกรณ์ที่มีราคาแพงที่สุด ซึ่งความสวยงามคงทนก็สมราคาอยู่แล้ว อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ประเภทบานพับ มือจับ รางเลื่อน รางลิ้นชัก หรือกันชนต่างๆ ควรเลือกใช้แบบที่ทนหรือไม่เป็นสนิม เพราะมีโอกาสสัมผัสกับกรด ด่าง ความเค็มพอสมควร สแตนเลส หรือทองเหลืองแม้ว่าราคาจะสูงกว่าเหล็กเคลือบสีหรือเครือบโครเมี่ยม แต่น่าจะตอบสนองการใช้งานได้ดีกว่า และการเลือกแบบหรือชนิดควรพิจารณาให้ทนต่อการกระแทกปิดเปิดได้ดีพอควรยังมีวัสดุ อุปกรณ์อีกมากมายหลายอย่างที่นำมาทำเป็นส่วนประกอบของห้องครัว ไฟฟ้าแสงสว่าง ดวงโคม ก็มีความสำคัญในการเลือกใช้ เพราะจะต้องไม่เป็นที่สะสมของเขม่า ละออง ถอดเช็ดล้างทำความสะอาดง่าย ติดตั้งในตำแหน่งที่เหมาะสม ให้แสงสว่างในการประกอบกิจกรรมอย่างเพียงพอ ดวงโคมประเภทห้อยระย้า หรือที่มีซอกมุมมากๆไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ ตำแหน่งและชนิดของเต้าเสียบควรออกแบบให้ใช้งานได้ง่าย มีความปลอดภัย และควรมีสายดินเสมอเพราะระหว่างทำครัวมืออาจเปียกชื้นอาจเกิดอันตรายได้ งานระบบประปา ระบบท่อก็เช่นกัน ต้องมีระบบป้องกันน้ำมิให้น้ำที่รั่วซึมเปียกโครงสร้างของตู้ จะต้องซ่อมแซมได้ง่ายโดยไม่กระทบกับส่วนอื่นนอกจากการเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสมแล้วยังอาจมีอีกบางประการที่คนในปัจจุบัน มักจะให้ความสนใจเมื่อจะสร้างบ้านคือ เรื่องของหลักฮวงจุ้ย ดังนั้นการวางตำแหน่งห้องต่างๆของบ้าน อาจจะนำหลักฮวงจุ้ยเข้ามาประกอบการพิจารณาด้วย การกำหนดตำแหน่งของห้องครัวก็เช่นเดียวกัน ในบางยุคบางสมัยเชื่อกันว่าครัวเป็นตัวกำหนดโชคลาภ เช่น การวางตำแหน่งห้องครัวจะไม่ให้คนภายนอกมองเห็นได้ เพราะเชื่อว่าโชคลาภอาจจะถูกแย่งชิง หรือการวางตำแหน่งครัวไว้กลางบ้านจะทำให้เก็บเงินไม่อยู่ ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้น ตำแหน่งของครัวส่วนใหญ่จึงอยู่ด้านหลังบ้าน อุปกรณ์เครื่องใช้ในครัว เช่น เตา ก็มีความสำคัญเช่นกันเพราะเชื่อกันว่าการวางตำแหน่งของเตา โดยหันไปในทิศทางที่เป็นมงคล จะทำให้ผู้อยู่อาศัยมีความเจริญรุ่งเรืองและมีสุขภาพดีอย่างไรก็ตามครัวยังคงมีความสำคัญสำหรับบ้านแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะได้ใช้ประโยชน์เต็มที่แค่ไหนก็ตาม ดังนั้นการสร้างส่วนที่เป็นครัว การดูแลรักษา ไม่ว่าเพื่อประโยชน์ในการใช้สอยหรือสนองความเชื่อส่วนตัวก็ตาม ยังคงเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับเจ้าของบ้านทุกคน..จริงหรือไม่ครับที่มา นิตยสาร Decoration Guide เดือนกันยายน 2551