สำหรับคนที่กำลังรู้สึกว่าห้องน้ำที่บ้านทำไมรู้สึกใช้งานยากและรู้สึกชวนให้ไม่อยากใช้งานเป็นเวลานานๆ คุณอาจจะสงสัยว่าห้องน้ำที่บ้านออกแบบมาถูกต้องตามหลักแล้วหรือยังหรือควรปรับปรุงแก้ไขอะไรเพิ่มเติมบ้าง Baania เรามีหลักการออกแบบห้องน้ำเบื้องต้นมาฝากกันสำหรับคนที่กำลังจะสร้างหรือปรับปรุงห้องน้ำที่บ้านให้ดีขึ้น มีอะไรที่ต้องรู้บ้างลองมาดูกันครับ
พื้นห้องน้ำ ควรเลือกใช้กระเบื้องที่ผิวไม่มันวาว ไม่ลื่น เพื่อป้องกันการลื่นล้ม ส่วนผนังห้องน้ำสามารถเลือกแบบที่มันวาวได้เพื่อความสวยงาม ทั้งนี้ถ้าห้องน้ำมีขนาดเล็ก ลองเลือกสีกระเบื้องสีขาวหรือสีโทนสว่างจะช่วยทำให้ห้องน้ำดูกว้างขึ้น
ห้องน้ำควรแยกส่วนแห้งกับส่วนเปียก ส่วนแห้งเป็นส่วนที่มีน้ำเลอะเทอะพื้นน้อย ได้แก่ ส่วนอ่างล้างหน้า โถปัสสาวะ โถชักโครก ส่วนเปียกเป็นส่วนที่มีน้ำเปียกพื้นมาก ได้แก่ส่วนอาบน้ำ ทั้งนี้ควรแยกสองพื้นที่ออกจากกันด้วยการกั้นผนังหรือใช้ม่านห้องน้ำ แต่ถ้าจะให้ดีทำเป็นห้องอาบน้ำหรือฉากกั้นไปเลยก็จะช่วยกันน้ำได้ดีมากขึ้น ส่วนพื้นห้องน้ำเองก็ควรมีการลดระดับให้ต่ำกว่าพื้นส่วนแห้งด้วยเช่นกัน
ถ้าเป็นคนที่เข้าห้องน้ำนาน อาจจัดให้มีมุมชั้นวางหนังสือเล็กๆไว้ในส่วนแห้งสำหรับใช้อ่านเวลานั่งโถชักโครก หรือคนที่ชอบฟังเพลงและอาบน้ำนานก็จัดให้มีชั้นวางลำโพงในโซนเปียก ซึ่งปัจจุบันลำโพงบางรุ่นก็มีระบบกันน้ำทำให้สามารถโดนน้ำได้
ห้องน้ำควรอยู่ในจุดที่แสงแดดเข้าถึงโดยเฉพาะส่วนเปียก ห้องน้ำจะได้ไม่อับและไม่มีเชื้อราขึ้น พื้นจะได้แห้งและใช้งานได้ง่ายขึ้นด้วย โดยแนะนำให้วางผังห้องน้ำให้อยู่ทางทิศตะวันตกและทิศใต้ของบ้านซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แดดลงในช่วงบ่าย
ห้องน้ำควรมีหน้าต่างในห้องน้ำไว้ระบายอากาศ โดยแนะนำให้ใช้หน้าต่างบานกระทุ้งซึ่งระบายอากาศได้ดีและสามารถบังสายตาจากภายนอกได้ แต่ถ้าต้องการความเป็นส่วนมากขึ้นลองเลือกใช้หน้าต่างบานเกล็ดซ้อน ซึ่งจะช่วยบังสายตาจากภายนอกได้ดีกว่า นอกจากนี้หากมีช่องแสงอื่นๆที่มองเห็นจากภายนอกได้ควรเลือกใช้เป็นกระจกแบบขุ่นเพื่อความเป็นส่วนตัว
ถ้าเป็นห้องน้ำเก่าที่ไม่มีหน้าต่างในห้องน้ำ สามารถติดตั้งพัดลมระบายอากาศภายในห้องน้ำได้ ซึ่งมีทั้งแบบติดตั้งกับผนังและบนฝ้าเพดาน จะช่วยระบายอากาศได้ดี แต่ตอนซื้อต้องเลือกขนาดพัดลมให้สอดคล้องกับขนาดของห้องน้ำด้วย
การวางสุขภัณฑ์ควรเรียงลำดับการวางสุขภัณฑ์จากการใช้งานไล่ตั้งแต่โซนแห้งไปโซนเปียก คือควรวางอ่างล้างมือให้อยู่ใกล้กับประตูมากที่สุด แล้วถัดไปจึงเป็นโถปัสสาวะและโถชักโครก แล้วจึงเป็นส่วนอาบน้ำหรืออ่างน้ำ
ส่วนตำแหน่งการจัดวางสุขภัณฑ์ ต้องดูระยะห่างรอบด้านของสุขภัณฑ์ว่าใช้งานได้ ไม่อึดอัด สามารถหยิบจับกระดาษชำระและสายฉีดชำระได้สะดวก ทั้งนี้ถ้าห้องน้ำมีขนาดเล็ก อย่าวางโถปัสสาวะและโถชักโครกไว้ตรงข้ามกัน เพราะจะทำให้ตอนนั่งโถชักโครกต้องนั่งมองโถปัสสาวะซึ่งดูไม่ดี ควรวางไว้ห่างกันหรือวางให้เยื้องกัน อีกเรื่องคือตำแหน่งความสูงของอุปกรณ์ต่างๆ ต้องถูกสัดส่วน ลองกะเองจากสายตาและการใช้งานดูก่อน หรือจะลองศึกษาจากคู่มือผลิตภัณฑ์ก็ได้
การเลือกสุขภัณฑ์ในห้องน้ำจะเลือกแค่ความสวยงามเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ยิ่งเป็นดีไซน์แปลกๆอาจจะใช้งานจริงได้ยาก เช่น อ่างล้างมือควรมีพื้นที่สำหรับก้มไปล้างหน้าได้ ก็อกน้ำเปิดน้ำแรงๆแล้วน้ำไม่กระเด็นออกจากอ่างและควรมีรูน้ำล้น หรืออย่างโถปัสสาวะที่ยาวถึงพื้นก็ไม่เหมาะใช้สำหรับบ้านพักอาศัยควรเลือกใช้แบบลอยตัวมากกว่า นอกจากนี้ควรเลือกสุขภัณฑ์ที่ประหยัดน้ำจะได้ช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายในบ้านได้มากและยังดีต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
แม้ว่าเราจะรู้กันดีว่าไฟฟ้ากับน้ำนั้นไม่ถูกกัน แต่สำหรับบางกิจกรรม เช่น การใช้ที่เป่าผมหรือเครื่องโกนหนวดไฟฟ้าที่บางบ้านก็ทำธุระในห้องน้ำเลย ดังนั้นอาจติดตั้งปลั๊กไฟไว้ในส่วนแห้งและติดตั้งไว้สูงพอที่น้ำจะกระเด็นไปถึงได้ยากหรือควรมีหน้ากากกันน้ำครอบปลั๊กไฟอีกทีเพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้สำหรับคนที่ต้องแต่งหน้าในห้องน้ำ ลองเพิ่มแสงไฟสีขาวบริเวณหน้ากระจกจะช่วยให้แสงจริงที่ไม่หลอกตา
นี่เป็นเพียง Tips เล็กๆน้อยๆที่เรานำมาฝากกัน อ่านๆดูแล้วห้องน้ำที่บ้านของคุณออกแบบมาถูกต้องไปกี่ข้อ ถ้าเห็นว่ามีบางข้อสามารถปรับปรุงได้ก็ลองแก้ไขกันดูนะครับ รับรองว่าคุ้มค่าแน่นอน แล้วคุณได้พบว่าห้องน้ำนี่แหละ แดนสวรรค์ของบ้านเลยทีเดียว
สำหรับใครที่อยากรู้ไอเดียในการแต่งห้องน้ำสวย เรามี Baania Decor ที่ให้คุณได้เข้าไปเลือกแบบห้องน้ำสวยๆได้อีกมากมาย สามารถกดเข้าไปเยี่ยมชมได้ที่นี่นะครับ