เราเชื่อว่าคุณแม่ของใครหลายๆคนคงมีไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน บางคนอาจเป็น Working Women ทำงานนอกบ้าน บางคนอาจเป็นแม่บ้าน แต่ถ้าลองได้กลับมาถึงบ้านแล้ว สิ่งที่คุณแม่ทุกๆคนชื่นชอบเหมือนกันก็คือการทำบ้านให้สะอาดน่าอยู่ มีระเบียบ และทำอาหารให้ทุกคนในครอบครัวได้ทานกันอย่างมีความสุข ห้องครัวจึงเป็นพื้นที่สุดโปรดของคุณแม่ แต่การออกแบบตกแต่งห้องครัวให้ดีนั้นมีรายละเอียดให้คุณเลือกตกแต่งมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดการกับตู้เก็บของ ผนังห้องครัว พื้นห้องครัว หรือแม้กระทั่งเฟอร์นิเจอร์ที่เลือกใช้ ก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ช่วยเสริมให้ห้องครัวของคุณสวยโดดเด่นขึ้นได้ทั้งนั้น วันนี้เราขอเสนอหลักการคร่าวๆ ในการออกแบบครัวให้เพอร์เฟคกันค่ะ
การวางฟังก์ชั่นการใช้งานในครัวจะประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลักๆ คือ พื้นที่เก็บอาหาร พื้นที่ปรุงอาหาร และพื้นที่ล้างทำความสะอาด โดยยึดผู้ใช้งานเป็นจุดศูนย์กลาง ซึ่งระยะห่างของอุปกรณ์ทั้ง 3 ชนิดนี้ เมื่อลากเป็นรูปสามเหลี่ยม ควรอยู่ในความยาวประมาณ 4-7 เมตร ซึ่งเป็นระยะทางที่เดินถึงกันได้ง่าย และไม่ถูกขัดจังหวะด้วยเส้นทางสัญจรอื่น
แต่ละบ้านมีข้อจำกัดทางพื้นที่ของห้องครัวที่แตกต่างกัน และผังครัวแต่ละแบบก็มีความงามและความลงตัวต่างกัน จึงต้องวางผังครัวต่างกัน
I-shape Kitchen เป็นผังที่เหมาะสำหรับครัวขนาดเล็ก อุปกรณ์ครัวต่างๆ จะถูกวางติดผนังด้านใดด้านหนึ่ง เรียงตามการใช้งานโดยเริ่มจากตู้เย็น อ่างล้างจาน และเตาตามลำดับ ตู้เก็บของต่างๆ สามารถจัดวางให้อยู่ใต้เคาน์เตอร์หรือใช้ตู้ลอยติดผนังอยู่บนเคาน์เตอร์เพื่อประหยัดพื้นที่
Gallery Kitchen ลักษณะเหมือนครัวรูปตัว I แต่มีทั้ง 2 ด้าน อุปกรณ์ครัวทุกอย่างจะอยู่บนเคาน์เตอร์ทั้ง 2 ด้าน ทำให้มีพื้นที่เหลือสำหรับใช้วางของ หรือเก็บของมากขึ้น ครัวลักษณะนี้จำเป็นต้องมีระยะสำหรับเปิดตู้หรือลิ้นชักเผื่อไว้อย่างน้อย 1.20 เมตร ไม่เช่นนั้นการก้มหยิบของ ที่อยู่ชั้นล่างจะทำได้ลำบาก
L-shape Kitchen เป็นรูปแบบการวางผังที่ทำให้เกิดพื้นที่ที่เป็นส่วนตัวในการทำครัว ไม่ถูกรบกวนจาก การสัญจรไปมา และยังมีพื้นที่สำหรับเก็บเครื่องใช้ในครัวต่างๆ ได้มากจึงเหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการทำอาหารเป็นอย่างยิ่ง อุปกรณ์และเฟอร์นิเจอร์ครัวต่างๆ ก็สามารถเลือกติดตั้งได้หลากหลายกว่าครัวรูปแบบอื่น
U-shape Kitchen เป็นรูปแบบที่ถูกออกแบบมาให้ตรงกับหลักการรูปสามเหลี่ยมมากที่สุด อุปกรณ์ครัวทั้งเตา อ่างล้างจาน และตู้เย็นจะถูกวางเรียงกันคนละด้านของตัว U แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นระยะทางเส้นรอบรูปของ รูปสามเหลี่ยมในครัวไม่ควรเกิน 4 – 7 เมตร เพราะจะทำให้ผู้ใช้งานต้องเสียเวลาเดินมากขึ้น แต่ถ้าคับแคบเกินไปจะทำให้รู้สึกอึดอัด หยิบจับอะไรไม่ถนัด ระยะห่างระหว่างทั้ง 2 ด้านของครัวควรห่างอย่างน้อยประมาณ 1.5 – 2 เมตร เพื่อให้ผู้ใช้งานอย่างน้อย 2 คนสามารถทำครัวได้อย่างสะดวก
Island (เคาน์เตอร์กลางสำหรับทำอาหาร) ถือว่าเป็นอุปกรณ์เสริม เหมาะสำหรับห้องครัวขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่ใช้สอยมาก island ที่เพิ่มขึ้นมาสามารถใช้เป็นอ่างล้างจาน เตาปรุงอาหาร ที่วางของ หรือโต๊ะรับประทานอาหารก็ได้
ห้องครัวควรมีหน้าต่าง เพื่อเป็นช่องระบายอากาศและให้แสงธรรมชาติจากภายนอกส่องเข้าในครัวได้มากขึ้น นอกจากแสงแดดจะฆ่าเชื้อโรคแล้ว ยังสามารถไล่ความอับชื้น ช่วยลดสาเหตุของกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้อีกด้วย ถ้าเป็นครัวในคอนโดก็ใช้วิธีติดพัดลมระบายอากาศหรือเครื่องดูดควันแทน
ห้องครัวของคุณคงไม่น่ามองแน่ๆ หากภายในห้องเต็มไปด้วยอุปกรณ์วางระเกะระกะอยู่มากมาย ดังนั้นจึงควรมีตู้ไว้สำหรับเก็บของใช้ที่เกินจำเป็น และหากในครัวมีพื้นที่ค่อนข้างน้อย ควรประหยัดพื้นที่ด้วยการเลือกวิธีการเก็บของแบบแนวตั้ง โดยใชตู้เก็บของแบบติดผนัง ชั้นวางของติดผนัง หรือติดราวแขวนที่ผนัง การติดตั้งก็ไม่ควรติดไว้ในตำแหน่งที่สูงจนเกินไป ควรกะระยะความสูงให้พอดีกับคนในบ้าน เพื่อให้หยิบของใช้สอยได้สะดวก หากเป็นบริเวณใต้เคานเตอร์ก็ควรทำเป็นตู้เก็บของแบบบานเปิดหรือลิ้นชัก แล้วเพิ่มฟังก์ชั่นถาดเก็บอุปกรณ์ หรือซ่อนถังขยะไว้ภายใน
นอกจากสไตล์ในการตกแต่งห้องครัวแล้ว Top Counter ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาหนักอกหนักใจ เพราะไม่รู้จะเลือกแบบไหนดี แต่ละแบบก็มีข้อดีข้อด้อย ความทนทานและความสวยงามที่ต่างกัน จึงควรเลือกใช้ตามคุณสมบัติที่ตอบโจทย์การใช้งานของเรา ซึ่งTop Counter ที่นิยมใช้กันก็มีดังนี้
หินแกรนิต (Granite) ข้อดี คือ มีราคาไม่สูงมาก แข็งแรง ทนทานต่อน้ำ ความร้อน และความเป็นกรดด่าง ทั้งยังมีสีและลวดลายที่สวยงามตามธรรมชาติ แต่มีข้อเสีย เนื่องจากเนื้อหินมีรูพรุน ดูดซึมน้ำ จึงอาจทำให้เกิดเชื้อราได้ และการยาแนวรอยต่อบางครั้งทำได้ยาก เพราะหินแกรนิตมักมีแร่ที่ละเอียดและแข็ง
หินสังเคราะห์ (Engineered Stone) เป็นวัสดุทดแทนหินธรรมชาติที่ได้รับความนิยม เพราะคุณสมบัติที่ค่อนข้างสมบูรณ์แบบ ทั้งทนทาน สวยงาม ดัดโค้งเป็นรูปทรงได้ มีส่วนผสมของหินจริงปนอยู่ ทั้งหินแกรนิต หินอ่อน หรือหินควอตซ์ โดยมีเรซิ่นเป็นตัวประสานให้เป็นเนื้อเดียวกันทั้งแผ่น ทนกรด-ด่าง ทนสารเคมี ไม่มีรูพรุนจึงไม่ดูดซึมน้ำและไม่เป็นแหล่งสะสมของเช้อโรค มีสีและลวดลาย คุณภาพให้เลือกมากกว่า ข้อเสียคือมีราคาที่แพงกว่าหินธรรมชาติ
กระเบื้องเซรามิก (Ceramic tile) มีข้อดีที่ดูแลรักษาง่าย ทำความสะอาดง่าย ทนความร้อนได้ดี มีหลายแบบหลายราคาให้เลือก แต่ข้อเสียคือผิวจะไม่สม่ำเสมอ กระเบื้องอาจแตกหรือหลุดร่อนได้ นอกจากนี้หากในครัวมีความชื้นมากๆ บริเวณร่องยาแนวอาจมีคราบเปื้อนติดและอาจเกิดเชื้อราเป็นคราบดำ
ไม้ (Wood) ให้ความรู้สึกอบอุ่นเป็นธรรมชาติ ดูมีราคา สามารถทำเป็นรูปทรงที่ต้องการได้ง่าย ข้อเสีย คือ ราคาแพง บางครั้งพบตาไม้หรือตำหนิตามธรรมชาติ หากดูแลไม่ดีอาจมีปัญหาปลวกและเชื้อรา และอาจเป็นรอยด่างเมื่อถูกน้ำและคราบอาหาร แนะนำให้ใช้เป็นไม้เนื้อแข็งเพราะต้องถูกใช้งานโดยตรง จึงต้องมีความทนทานมากเป็นพิเศษ
ลามิเนต (Laminate) เป็นวัสดุประเภทพลาสติก มักใช้ปิดทับมาบนแผ่นไม้อัด (MDF) ข้อดีคือราคาถูก มีสีสันและลวดลายให้เลือกหลากหลาย ดัดโค้งได้ แต่มีข้อควรระวัง เนื่องจากแผ่นลามิเนตเป็นรอยค่อนข้างง่ายและไม่สามารถซ่อมแซมรอยขูดขีดได้ จึงไม่ควรสับหรือทำอาหารบนพื้นผิว นอกจากนี้ ไม้อัด MDF ด้านใน อาจเกิดปัญหาปลวกและเชื้อราง่าย หากไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกวิธี
สเตนเลส สตีล (Stainless Steel) นิยมใช้สำหรับครัวสไตล์โมเดิร์นและครัวที่ใช้งานหนักเป็นพิเศษ เช่น ครัวโรงแรม ครัวภัตตาคาร ข้อดีคือแข็งแรง ทำความสะอาดง่าย ไม่มีคราบติดแน่น และไม่ขึ้นสนิม แต่มีราคาสูงมาก
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในบ้านของเรานั้น ห้องครัวก็จัดว่าสำคัญไม่แพ้ห้องใดๆในบ้าน เพราะเปรียบเสมือนห้องเสบียงที่ใช้เตรียมความพร้อมด้านอาหารให้แก่ทุกคนในครอบครัว ดังนั้นการตกแต่งห้องครัวให้มีความสะดวกในด้านการใช้งาน รวมไปถึงความสวยงาม ปลอดภัยและเหมาะสมกับผู้ใช้งานนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้การจัดห้องอื่นๆภายในบ้าน