คำกล่าวที่ว่า หันชักโครกไปทางทิศเดียวกับหน้าบ้าน หรือประตูหน้าบ้านไม่เป็นมงคลจริงหรือไม่ ตอบได้ทันทีเลยว่า เป็นเรื่องจริงครับ แต่..เป็นเรื่องจริงในอดีตและเป็นเรื่องจริงเฉพาะประเทศจีนเท่านั้น ก่อนอื่นผู้อ่านต้องทำความเข้าใจว่า ฮวงจุ้ย เป็นศาสตร์ที่มาจากประเทศจีน ฮวงจุ้ยแต่ละประเด็นจึงอ้างอิงบริบทการใช้ชีวิต สภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศของจีนเป็นหลัก ฮวงจุ้ยบางเรื่องสามารถนำมาใช้ได้ทันที แต่ฮวงจุ้ยบางเรื่องจำเป็นต้องประยุกต์ใช้งานตามบริบทของประเทศนั้น ๆ
ลักษณะห้องน้ำของประเทศจีนในอดีต รวมทั้งในยุคปัจจุบันที่ยังใช้แบบเดิม ออกแบบให้ลักษณะเปิดเผย บางแห่งไม่มีประตูปิดกั้น หรือบางห้องน้ำมีประตูสูงแค่เพียงระดับเอว หากตำแหน่งห้องน้ำอยู่ตรงกับประตูหน้าบ้าน เมื่อมีใครเดินเข้ามาภายในบ้านย่อมรู้สึกไม่ดีเท่าไหร่นักและยิ่งแย่ไปกว่านั้นหากบังเอิญมีใครกำลังทำธุระอยู่
สำหรับประเทศไทยโดยเฉพาะยุคปัจจุบัน ลักษณะการออกแบบห้องน้ำมีการปิดกั้นมิดชิด เป็นสัดส่วน ตำแหน่งของชักโครกจึงสามารถหันไปทางใดก็ได้ ขอแค่เพียงจัดตำแหน่งให้เหมาะสมกับขนาดของห้อง ตำแหน่งการวางจะต้องเดินเข้าออกได้อย่างสะดวก ไม่ขวางกั้นทางเดิน แต่ต้องระวังเรื่องการวางตำแหน่งชักโครกที่ติดกับผนังห้องนอน เพราะอาจก่อให้เกิดความชื้นและเสียงรบกวนขณะที่คู่รักหรือสมาชิกในครอบครัวที่นอนร่วมกันกำลังหลับใหลได้
สำหรับชักโครกภายในห้องน้ำชั้นบน ไม่ควรวางตรงกับตำแหน่งที่มีผู้ใช้งานบ่อยครั้งในชั้นล่าง เช่น ไม่ควรตรงตำแหน่งโซนนั่งเล่น โซนรับแขก โซนรับประทานอาหาร เนื่องด้วยบางบ้านเสียงของชักโครกจะได้ยินถึงชั้นล่าง หากมีสมาชิกท่านอื่น ๆ หรือแขกผู้มาเยี่ยมเยือนนั่งอยู่ชั้นล่าง ในขณะที่คนชั้นบนใช้ห้องน้ำย่อมดูไม่เหมาะสมเท่าไหร่นัก
ก่อนจะกล่าวถึงตำแหน่งชักโครก ขอแนะนำตำแหน่งของห้องน้ำกันก่อน หากเป็นไปได้ตำแหน่งห้องน้ำที่ดีควรติดผนังด้านนอกของบ้าน เพื่อที่จะสามารถเปิดช่องระบายอากาศ ให้แสงแดดเข้าถึง แสงแดดช่วยฆ่าเชื้อโรคและป้องกันการเกิดเชื้อรา เป็นผลให้ห้องน้ำถูกสุขลักษณะที่ดียิ่งขึ้น สำหรับตำแหน่งชักโครกที่ดี ควรแยกโซนจากห้องอาบน้ำเพื่อที่จะได้แยกโซนเปียกแห้งอย่างชัดเจน ช่วยให้สามารถดูแลความสะอาดได้อย่างเบาแรง
ก่อนจบเนื้อหา ออกแบบตัวอย่างห้องน้ำรวมมาฝากกันครับ กรณีบ้านที่ใช้ห้องน้ำรวม หากมีสมาชิกใช้งานร่วมกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป โดยปกติมักติดปัญหาในช่วงเช้า ซึ่งมักเจอปัญหาการใช้งานพร้อมกัน โดยเฉพาะกรณีที่มีบุคคลหนึ่งกำลังอาบน้ำ หากห้องน้ำติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมกันทั้งหมดภายในห้องเดียว สมาชิกท่านอื่น ๆ จะไม่สามารถใช้งานได้ แนะนำให้ออกแบบห้องน้ำแยกย่อยภายในไว้อีก 2 ห้อง โดยให้ห้องอาบน้ำและห้องสุขาแยกออกจากกัน แนวทางการออกแบบลักษณะนี้จะช่วยแก้ปัญหาการใช้ห้องน้ำพร้อมกันได้ดีครับ