เผยเทคนิค เลือกสุขภัณฑ์ห้องน้ำ ให้ใช้งานได้ยาวนาน

May 16,2022 Post by : ชูชิต อรัญชิต
  • ข้อควรระวังในการตกแต่งห้องน้ำ
  • เผยเทคนิค เลือกสุขภัณฑ์ห้องน้ำ ให้ใช้งานได้ยาวนาน เผยเทคนิค เลือกสุขภัณฑ์ห้องน้ำ ให้ใช้งานได้ยาวนาน

    ห้องไหน ๆ ในบ้านก็อาจจะมีที่เว้นว่างไม่ได้เข้าใช้งาน แต่ “ห้องน้ำ” เป็นจุดที่สมาชิกในบ้านต้องหมุนเวียนมาใช้งานตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ไม่เพียงเท่านั้นยังอาจจะได้ต้อนรับแขกผู้มาเยือนในบางโอกาส ห้องน้ำจึงเป็นส่วนเล็ก ๆ ในบ้านที่มีความสําคัญและสะท้อนสไตล์ผู้เป็นเจ้าของ ที่ควรสร้างสรรค์ให้ดูดีน่าใช้ การตกแต่งห้องน้ำ นอกจากจะออกแบบให้มีสุขอนามัยและปลอดภัยสำหรับผู้ใช้งานแล้ว การเลือกสุขภัณฑ์ในห้องน้ำก็เป็นสิ่งเป็นหัวใจสำคัญ เพราะสุขภัณฑ์ที่ดีช่วยเพิ่มความสบาย และเติมความสุขทุกครั้งในการใช้ห้องน้ำ

    ซึ่งปัจจุบันมีดีไซน์และนวัตกรรมใหม่ ๆ มาสร้างสุขให้กับผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นโถสุขภัณฑ์ อ่างล้างมือ ฝักบัว แต่ทุกชิ้นที่กล่าวมาก็ล้วนเป็นไอเทมที่ต้องใส่ใจเลือกเป็นพิเศษให้เหมาะกับผู้ใช้ ถ้าเลือกผิดไม่สอดคล้องกับการใช้งานก็อาจเกิดปัญหาตามมาภายหลังได้เช่นกัน เนื้อหานี้มี 5 เทคนิคดี ๆ ที่จะช่วยให้ผู้อ่านเลือกซื้อสุขภัณฑ์ในห้องน้ำได้ตอบโจทย์ฟังก์ชันการใช้งานที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ ซื้อแล้วไม่พลาด มาฝากกันครับ

    สไตล์ของบ้านกับห้องน้ำ ควรเลือกองค์ประกอบให้ดูไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น สไตล์โมเดิร์น มินิมอล รัสติก สแนดิเนเวียน ฯลฯ เพื่อให้เกิดความไหลลื่นไม่ขัดแย้ง ทั้งโทนสี วัสดุ และดีไซน์ ตัวอย่างเช่น บ้านสไตล์คันทรีหรือวินเทจ เหมาะกับก๊อกน้ำทองเหลือง หัวฝักบัวแบบกลม อ่างเซรามิคเคลือบ enamel ที่โชว์ความคลาสสิคอย่างมีเรื่องราว หากเป็นบ้านสไตล์โมเดิร์นก็ดูตามความเหมาะสมกับธีม อาจจะเลือกใส่ความวาววับของสแตนเลส สุขภัณฑ์สีดำ -ขาว หัวก๊อกน้ำเส้นสายเรขาคณิตเรียบ ๆ ฝักบัวแบบเหลี่ยม โถสุขภัณฑ์แบบถังพักน้ำซ่อนผนัง หรือสุขภัณฑ์แบบอัตโนมัติที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ

    ขนาดของห้องน้ำกับขนาดของสุขภัณฑ์ เป็นอีกจุดหนึ่งที่ต้องเลือกให้สัมพันธ์กัน ต้องเช็คดูก่อนว่าห้องน้ำเราไซส์ไหน เล็ก กลาง หรือใหญ่ เพื่อเลือกรูปแบบและขนาดสุขภัณฑ์ให้เหมาะสม เพราะถ้าชอบสุขภัณฑ์ชิ้นใหญ่แต่ห้องน้ำเล็ก ทุกครั้งที่เข้าใช้งานจะอึดอัดไม่สะดวกและยังดูแลยาก หากเป็นห้องน้ำขนาดใหญ่จะตกแต่งได้ง่ายกว่า ไม่ว่าจะแบ่งโซนแห้งโซนเปียก การใส่ฟังก์ชั่นต่าง ๆ อย่างเช่น อ่างอาบน้ำขนาดใหญ่ ซิงค์ล้างมือ โถสุขภัณฑ์ ก็จัดได้ตามสัดส่วนและงบประมาณตามใจชอบ แต่ในบ้านขนาดเล็กมีงบน้อย ห้องน้ำก็อาจจะต้องย่อขนาดลงมา จึงต้องจัดให้เหลือที่ว่างมากที่สุด สุขภัณฑ์ห้องน้ำควรใช้ขนาดเล็กกะทัดรัด หรือสุขภัณฑ์ลอยตัว เช่น โถสุขภัณฑ์ที่มีขนาดเล็ก อ่างล้างหน้าลอยตัวแบบเข้ามุม โถชักโครกทรงกลม ซึ่งจะประหยัดพื้นที่ห้องน้ำมากกว่า ทำความสะอาดได้ง่าย เอื้อให้ใช้งานได้สะดวก

    สมาชิกในบ้านแต่ละหลังมีความสูง ขนาดตัว น้ำหนัก และช่วงอายุที่ต่างกัน หากตัดสินใจซื้อโดยไม่ได้ตรวจสอบให้เหมาะสม อาจทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ เช่น ความกว้างโถมากเกินไปเด็กเล็กใช้งานไม่ได้ อ่างล้างมือสูงเกินระยะเอื้อมถึง โถสุขภัณฑ์สูงไปจนเท้าลอยหรือโถต่ำวางเท้าไม่ได้ระดับ ซึ่งล้วนแล้วแต่ทำให้ใช้งานไม่สะดวกสบาย ดังนั้นจึงต้องวัดจากสรีระของผู้ใช้งานเป็นหลัก เพื่อกำหนดรูปแบบ ขนาด ความสูง ของสุขภัณฑ์แต่ละชิ้นต้องเลือกชิ้นที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นโถส้วม อ่างล้างมือ ก๊อกน้ำ ตัวอย่างเช่น โถสุขภัณฑ์มาตรฐานความสูงคนไทยจะอยู่ที่ 14-17 นิ้ว สำหรับผู้ใหญ่ความสูงประมาณ 17 นิ้ว หรือ 43.5 ซม. ห้องน้ำเด็กควรใช้ความสูง 14 นิ้ว หรือ 35.5 ซม. แต่ถ้าเลือกกลาง ๆ ความสูงที่ใช้ได้สำหรับทุกคนในครอบครัวจะอยู่ที่ประมาณ 15.5 นิ้ว ( 39.5 ซม.) ส่วนอ่างล้างมือรวมความสูงที่ปากอ่างสำหรับผู้ใช้สูง 150-165 ซม. สูงที่ระดับ 80 ซม. กำลังพอดี เป็นต้น

    โจทย์การเลือกสุขภัณฑ์ในห้องน้ำประกอบด้วยรายละเอียดปลีกย่อยค่อนข้างมาก เพราะต้องรองรับการใช้งานของสมาชิกทุกเพศทุกวัย จึงต้องมีความชัดเจนเรื่องพฤติกรรมการใช้งาน ช่วงอายุของผู้ใช้ ฟังก์ชั่นการใช้งานพิเศษ ให้ความสะดวกในการดำเนินชีวิตมากที่สุด

    สำหรับคนที่มั่นใจว่าไลฟ์สไตล์เป็นคนไม่ค่อยมีเวลา ต้องออกไปทำงานต่างจังหวัด ต่างประเทศบ่อย ๆ การตกแต่งห้องน้ำต้องให้โล่งโปร่งที่สุด เลือกใช้สุขภัณฑ์ที่ดูแลง่ายจะช่วยประหยัดเวลาและคงความสะอาดเรียบร้อย แม้เจ้าของบ้านจะไม่ค่อยมีเวลาขัดล้างก็ตาม เช่น โถสุขภัณฑ์ดีไซน์เรียบๆ ไม่คดโค้งมีซอกหลืบที่เข้าถึงอยาก อ่างล้างหน้าทำจากวัสดุที่ดูแลง่ายไม่เก็บฝุ่น ไม่เป็นคราบน้ำ หรือใช้สุขภัณฑ์แขวนผนังลอยตัวที่ทำความสะอาดพื้นข้างใต้และตัวสุขภัณฑ์ได้ง่าย ไม่มีจุดหมักหมม แต่ต้องเตรียมความพร้อมตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ เนื่องจากต้องคำนวนระยะท่อ และการรับน้ำหนักของผนัง ซึ่งต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่ผู้ผลิตแต่ละรายกำหนด และราคาอาจจะค่อนข้างสูง

    สุขภัณฑ์แต่ละประเภทมีระบบการชำระล้างที่แตกต่างกันไป เลือกได้ตามลักษณะการใช้งานและงบประมาณ แต่โดยทั่วไปจะมีอยู่ 4 ระบบ คือ

    • ระบบ Wash-Down ใช้หลักการน้ำใหม่แทนน้ำเก่า ข้อดีคือ ใช้น้ำต่อครั้งในปริมาณที่น้อยกว่าระบบอื่น

    • ระบบ Siphonic Wash-Down เป็นระบบที่ใช้หลักการของกาลักน้ำ การทำงานคล้ายกับระบบ Wash-Down แต่มีรูปร่างของคอห่านที่โค้งกลับ ทำให้เกิดกาลักน้ำ ช่วยดึงดูดสิ่งปฏิกูลได้อีกทางหนึ่ง

    • ระบบ Siphon-Jet เป็นระบบที่เน้นความรวดเร็วในการชำระล้างและแรงกว่าระบบอื่น ๆ เพราะมีหัวฉีด (Jet Hole) ช่วยส่งน้ำให้เกิดเพิ่มแรงดึงดูดในการชำระสิ่งปฏิกูลได้รวดเร็วขึ้น แต่ใช้นำเพียง 6 ลิตร

    • ระบบ Siphon Vortex เป็นระบบการชำระล้างที่ดีที่สุด ด้วยอุปกรณ์ภายในหม้อน้ำเป็นทองเหลืองให้ความทนทาน เมื่อกดชำระภายในโถจะเกิดการหมุนวนของน้ำและดูดสิ่งปฏิกูลได้รวดเร็ว เป็นโถสุขภัณฑ์ประเภทชิ้นเดียวที่มีถังพักน้ำต่ำกว่าระบบอื่นๆ ทำให้มีเสียงเงียบที่สุด ระบบนี้ใช้น้ำประมาณ 9 ลิตร

    บ้านที่มีผู้สูงอายุ “ห้องน้ำ” เป็นจุดหนึ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษเพราะเป็นจุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุสูงที่สุด ห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุจึงต้องได้รับการออกแบบให้ปลอดภัยในทุกช่วงเวลา ขนาดของห้องกว้างคูณยาวควรมีขนาดตั้งแต่ 1.65 x 2.75 เมตร และมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร เพื่อให้ผู้ใช้ wheelchairs เข้าใช้งานได้ง่าย มีระยะหมุนตัวได้ 180 องศา ภายในต้องแยกส่วนแห้งและส่วนเปียกออกจากกัน โดยทำพื้นห้องให้ลาดเอียงเล็กน้อยในโซนเปียกแทนการก่อพื้นคั่น เพื่อป้องกันการสะดุดหกล้ม การเลือกสุขภัณฑ์ในห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุอาจจะมีความพิเศษมากขึ้นด้วยการติดตั้งอุปกรณ์จำเป็นเพิ่มเติม อาทิ

    • ติดราวจับและมือจับในส่วนต่างๆ สำหรับยึดเกาะให้มั่นคง สามารถประคองตัวให้เคลื่อนที่ได้สะดวกและปลอดภัย

    • ฝักบัวอาบน้ำ เลือกเป็นแบบที่ปรับระดับได้ตามความสูงของผู้ใช้งาน และมีระบบควบคุมความร้อนของน้ำให้อยู่ในองศาที่พอเหมาะ

    • ขนาดของชักโครก เลือกใช้ขนาดความกว้างชักโครกให้พอดีกับสรีระผู้สูงอายุเพื่อความสะดวกในการลุกนั่งและรองรับน้ำหนักได้ดี

    • กระเบื้องปลอดภัยไม่ลื่น เช่น กระเบื้องแกรนิต กระเบื้องเกรซพอร์ซเลนผิวหยาบขรุขระ หรือกระเบื้องที่มีค่าความฝืดของกระเบื้อง (ค่าR) R10 สำหรับโซนเปียกควรใช้กระเบื้องแผ่นเล็ก เพราะร่องยาแนวของกระเบื้องแผ่นเล็กจะมีแรงเสียดทานในการสัมผัสช่วยให้ปลอดภัยมากขึ้น

    • อ่างล้างหน้า ต้องติดตั้งในระยะความสูงที่ไม่ต่ำเกินไปจนต้องก้มหรือสูงเกินไป ติดตั้งบนผนังที่แข็งแรงเพื่อรับแรงกดที่ผู้สูงอายุอาจจะเผลอใช้มือท้าวเพื่อพยุงตัว

    • ก๊อกน้ำใช้งานง่าย เช่น แบบอัตโนมัติที่มีเซ็นต์เซอร์จับระยะที่เปิดปิดน้ำได้รวดเร็ว ลดความเสี่ยงห้องลื่นจากการลืมปิดน้ำ หรือใช้ก๊อกน้ำแบบก้านปัดหรือก้านโยกที่มีก้านยาวพิเศษ ผู้สูงอายุไม่ต้องเอื้อม ไม่ต้องออกแรงมาก

    สำหรับคนชอบนอนแช่ในอ่างอาบน้ำให้สบายตัวหลังทำงานมาเหนื่อย ๆ การเลือกติดตั้งอ่างอาบน้ำก็เป็นตัวช่วยที่ดี แต่สำหรับผู้สูงวัยและเด็กต้องเลือกรุ่นออกแบบมาเฉพาะ เช่น แบบเดินเข้าอาบ (walk-in tub) มีประตูเปิดเข้าออกได้ มีเก้าอี้นั่งอาบด้านใน และฟังก์ชั่นใช้งานปลอดภัย ทั้งนี้ก่อนติดตั้งต้องเช็คพื้นที่ที่มีและระยะในการเปิดประตูด้วย เพราะขนาดโดยปกติของอ่างอาบน้ำมีขนาด ยาว 60 นิ้ว กว้าง 30 นิ้ว ลึก 14 นิ้ว หรือใหญ่กว่านี้ได้อีก จึงต้องแน่ใจว่าขนาดของอ่างจะเข้ามาติดตั้งในห้องน้ำของเราได้ รวมถึงรายละเอียดเรื่องระบบน้ำ ตำแหน่งท่อระบายน้ำด้วย ไปจนถึงการคำนวนค่าน้ำในแต่ละเดือน เพราะอ่างอาบน้ำจะใช้น้ำมากเป็นพิเศษ

    บ้านทั่วไปมักจะเลือกติดตั้งฝักบัว เพราะใช้งานง่าย กินพื้นที่น้อย ค่าใช้จ่ายไม่แพง ไช้ได้ทุกเพศวัย ซึ่งจะมีให้เลือกหลัก ๆ 2 แบบ คือ ฝักบัวก้านแข็ง จะมีก้านต่อออกมาจากท่อประปาโดยตรง ไม่มีสาย มีหัวเล็ก ๆ สำหรับกระจายน้ำ และไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ จึงต้องวางระยะติดตั้งให้พอดีกับความสูงของผู้ใช้ ในบ้านที่ใช้น้ำประปาสามารถใช้หัวฝักบัวโลหะและพลาสติกได้ แต่ถ้าเป็นน้ำกร่อยแนะนำให้ใช้หัวพลาสติกและยางเพื่อป้องกันสนิม ฝักบัวแบบสายอ่อน เป็นฝักบัวที่มีสายที่ยาว เคลื่อนย้ายได้สะดวกกว่า ทั้งนี้ควรเลือกวัสดุเคลือบด้วยโครเมี่ยมที่ให้ความเงางามและป้องกันการเกิดสนิม สายไม่ม้วน ไม่บิดงอ ทนแรงดึงกระชากสูง และไม่รั่วซึม

    ในแต่ละวันเราใช้น้ำในปริมาณมากกว่า 300 ลิตรต่อคน ทั้งน้ำชำระร่างกาย ซักล้าง รวมทั้งการการกดชักโครกที่แต่ละครั้งต้องเสียน้ำในปริมาณไม่น้อย ลองถามตัวเองกอ่นนะครับว่าการประหยัดน้ำสำคัญสำหรับคุณและครอบครัวหรือไม่ ถ้าคำตอบคือ “ใช่” ก็ลงมือเลือกสุขภัณฑ์ประหยัดน้ำที่มีปริมาณการใช้น้ำที่จะต้องเสียไปในแต่ละครั้งน้อย เพื่อความคุ้มค่าทั้งในแง่การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและเพื่อประหยัดค่าน้ำในแต่ละเดือน อาทิ

    โถสุขภัณฑ์เป็นสิ่งที่ใช้น้ำต่อครั้งมากเป็นอันดับต้น ๆ และใช้งานบ่อยครั้งต่อวัน จึงควรเลือกรุ่นที่ใช้ปริมาณน้ำไม่เกิน 3-6 ลิตร/ครั้ง อย่างเช่น ระบบกดชำระแบบ Wash Down ซึ่งเป็นระบบที่ใช้น้ำใหม่แทนที่น้ำเก่า ใช้น้ำน้อยในการชำระ บางรุ่นตัวสุขภัณฑ์จะมี 2 ปุ่มกด ให้เลือกใช้น้ำน้อยหรือน้ำมาก เช่น เลือกชำระแบบเบา (3 ลิตร) หรือแบบหนัก (4.5 ลิตร)

    ก๊อกน้ำธรรมดาที่เราใช้งานทุกวัน จะมีอัตราการไหลของน้ำเฉลี่ย 9 ลิตร ต่อ นาที หากใครที่ชอบปล่อยน้ำทิ้งเวลาแปรงฟันเพียง 3 นาที หรือจนกว่าจะแปรงเสร็จ จะใช้น้ำไปถึงถึงคนละ 27 ลิตร นอกจากการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำแล้ว การเลือกสุขภัณฑ์ก๊อกประหยัดน้ำด้วยในตัวก็จะช่วยประหยัดไปพร้อม ๆ กับความสะดวก โดยมองหาฉลากรับรอง มอก.กำกับว่าเป็นก๊อกน้ำรุ่นประหยัด ซึ่งใน 1 นาที จะมีอัตราการไหลของน้ำเฉลี่ยไม่เกิน 6 ลิตร (ที่แรงดันน้ำ 1 บาร์) ก๊อกประหยัดน้ำ จะติดตะแกรงที่ปลายก๊อกเพื่อเพิ่มปริมาณฟองอากาศในกระแสน้ำ ทำให้น้ำที่ไหลออกมานุ่มฟูใช้งานได้ ไม่สิ้นเปลือง หรือจะติดตั้งก๊อกแบบอัตโนมัติที่มีเซ็นต์เซอร์เปิด-ปิด หรือแบบก้านโยกและก้านปัด ทำให้หยุดน้ำได้ทันที ก็ช่วยประหยัดน้ำได้มาก

    ไม่เฉพาะสุขภัณฑ์อื่น ๆ ที่ประหยัดน้ำได้ ฝักบัวก็เช่นเดียวกัน ต้องมองหารุ่นที่มีอัตราน้ำไหลออกมาไม่เกิน 9 ลิตร ต่อ 1 นาที (ที่แรงดันน้ำ 1 บาร์) ซึ่งสามารถประหยัดน้ำได้ถึง 20 % ลักษณะของฝักบัวประหยัดน้ำจะมีการดึงอากาศเข้าไปผสมกับกระแสน้ำผ่านรูเล็ก ๆ บริเวณหัวฝักบัว และออกแบบให้รูปล่อยน้ำมีขนาดเล็กเพื่อให้ประหยัดน้ำได้อีก

    สังเกตง่ายๆ ที่ฉลากประหยัดน้ำที่ผ่านการรับรองจากสถาบันหรือองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น มอก.(ประหยัดน้ำ) , ฉลากเขียว และข้อมูลอัตราการใช้น้ำ ทดสอบการใช้งานให้แน่ใจแล้วจึงตัดสินใจเลือกรุ่นที่ถูกใจครับ

    เป็นอย่างไรบ้างครับกับ เทคนิคทั้ง 5 ข้อ ช่วยให้ภาพห้องน้ำที่ต้องการชัดเจนขึ้นไหมครับ อย่างไรก็ตามก่อนตัดสินซื้อสุขภัณฑ์ ควรเช็คด้วยว่ามีขนาดท่อตรงกันกับขนาดท่อประปาภายในบ้านที่จะทำการเชื่อมต่อ และระยะทางในการวางท่อน้ำทิ้งที่เหมาะสม สภาพภายนอกของสุขภัณฑ์ทุกชิ้นต้องไม่มีร่องรอยแตกร้าว บิ่นหรือเป็นสนิม ในส่วนของโถสุขภัณฑ์ต้องให้ช่างแนะนำสาธิตการชำระล้างด้วยวิธีต่างๆ เช่น การใส่เศษทิชชู่ลงไป แล้วสังเกตการชำระล้าง อุปกรณ์ชุดลูกลอยอยู่ในสภาพเรียบร้อยหรือไม่ ตรวจสอบชักโครกว่ามีจุดรั่วซึมหรือไม่ โดยลองหยดสีผสมอาหารลงในถังพักน้ำ แล้วสังเกตดูที่คอห่าน หากมีสีลงมาโดยที่ไม่ได้กดชักโครก แสดงว่ามีการรั่วซึม ทั้งนี้อย่าลืมเช็ครูปทรง ขนาด อะไหล่สำรอง และบริการหลังการขายด้วย ลองเลือกให้เหมาะสมกับการใช้งาน และลงตัวกับห้องน้ำของเรามากที่สุดครับ

    Leave a Reply